โลโก้เว็บไซต์ ยิ่งใหญ่ตระการตา มทร.ล้านนา คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 ขบวนรถกระทงใหญ่ “นพคุณบูชา สักการ์บงกชแก้ว เลิศแล้วระมิงค์นคร” ในงานประเพณียี่เป็งล้านนา 2562   | คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มทร.ล้านนา

ยิ่งใหญ่ตระการตา มทร.ล้านนา คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 ขบวนรถกระทงใหญ่ “นพคุณบูชา สักการ์บงกชแก้ว เลิศแล้วระมิงค์นคร” ในงานประเพณียี่เป็งล้านนา 2562

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 13 พฤศจิกายน 2562 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 12326 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา รวมพลังความสามัคคีคณาจารย์ นักศึกษา ร่วมตกแต่งขบวนกระทงใหญ่ ภายใต้แนวคิด “นพคุณบูชา สักการ์บงกชแก้ว เลิศแล้วระมิงค์นคร” พร้อมขบวนเครื่องสักการะ สืบสานประเพณีล้านนา เข้าร่วมประกวดขบวนกระทงใหญ่  ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2562 โดยรศ.ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี  นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษา ร่วมเดินขบวนรถกระทง อันสวยงามวิจิตรตระการตาสู่สายตานักท่องเที่ยวและประชาชนที่มารอชมความงดงามตั้งแต่ข่วงประตูท่าแพไปยังสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ และผลการประกวด มทร.ล้านนา คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดรถกระทงใหญ่ ได้รับโล่เกียรติคุณพร้อมเงินรางวัล 7 หมื่นบาท

           สำหรับเครื่องประกอบขบวนรถกระทง มีแนวคิดเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองและศรัทธาบูชาแห่งพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนา โดยเริ่มต้นจากป้ายมหาวิทยาลัยที่มีการประดับตกแต่งด้วยโทนสีเหลืองทองให้ดูสง่างาม ต่อด้วยทีมคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยโดยถือชุดกระทงใบตองแสดงการบูชาพระแม่คงคาสายน้ำที่หล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ เชื่อมต่อด้วยชุดโคม “รัตนบงกช” เป็นโคมสีชมพูตกแต่งด้วยลวดลายสีทองจัดเป็นชุดสามดอกเรียงเป็นชั้นแสดงถึงการสักการะบูชาพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อด้วยริ้วขบวนสะเหรี่ยงพระบรมธาตุเจ้าดอยสุเทพสัญลักษณ์แห่งเขาพระสุเมรุแกนกลางจักรวาลในคติธรรมประกอบร่วมด้วยฉัตรสีเหลืองทองประดับประจำมุมทั้งสี่ ต่อท้ายด้วยริ้วขบวนที่แสดงถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างยาวนานโดยตุงพระบฏพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ พื้นสีแดงเข็มลวดลายรูปพระพุทธเจ้าและต้นโพธิพฤกษ์สีทองสว่าง ริ้วขบวนสุดท้ายเป็นเครื่องสักการะโคม “สัตมหาบงกช” อันเป็นสัญลักษณ์แสดงความหมายถึงเขาสัตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอยู่ในรูปแบบที่เรียงซ้อนชั้นทรงพุ่มมีสีเหลืองลายทองจำนวน 9 ชุด ที่แสดงความหมายถึงตระกูลลัวะทั้ง 9 ที่เป็นกลุ่มชนแรกเริ่มของการสร้างเมืองเชียงใหม่ในอดีต

              ริ้วขบวนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งแสดงเรื่องราวความเจริญรุ่งเรื่องและความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนา โดยถ่ายทอดผ่านรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ที่ล้วนแล้วแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ปลูกฝังและสืบทอดด้านความหมาย ความงาม ตลอดจนทักษะภูมิปัญญาที่คนโบราณสร้างไว้เพื่อร่วมกันอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของล้านนาไว้สืบไป

สามารถชมภาพความงดงามได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ มทร.ล้านนา

ถ่ายภาพ: อาพัชรี /ธนพล/วิทยา กองประชาสัมพันธ์ มทร.ล้านนา 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon