โลโก้เว็บไซต์ นศ.วิศวกรรมจับมือเกษตรอำเภอดอยสะเก็ด สนับสนุนการผลิตเครื่องจักรด้านการผลิตและการแปรรูป ยกระดับกลุ่มวิสาหกิจสู่สินค้าโอทอปชั้นนำของประเทศ  | คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มทร.ล้านนา

นศ.วิศวกรรมจับมือเกษตรอำเภอดอยสะเก็ด สนับสนุนการผลิตเครื่องจักรด้านการผลิตและการแปรรูป ยกระดับกลุ่มวิสาหกิจสู่สินค้าโอทอปชั้นนำของประเทศ

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 18 พฤษภาคม 2565 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 4407 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

             วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพร้อมด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมกัน ส่งมอบเครื่องจักรสำหรับการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อำเภอดอยสะเก็ด โดยมีนายเสริมพงษ์  พงษ์พิกุล  เกษตรอำเภอดอยสะเก็ด พร้อมด้วยตัวแทนวิสาหกิจชุมชนทั้ง 4 ตำบล ร่วมรับมอบ ณ บริเวณอาคารวิศวกรรมการผลิต มทร.ล้านนา

           ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ รับมอบเครื่องบดข้าว

2.วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ถั่วลิสงตำบลแม่โป่ง ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ รับมอบเครื่องปลิดถั่วลิสง

3.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปพืชผลทางทางการเกษตรบ้านแม่หวาน ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ รับมอบเครื่องอบกล้วยฉาบ

4.วิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดและแปรรูปบ้านดอกแดง ต.สง่าบ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่รับมอบเครื่องอัดก้อนเห็ดนางฟ้าจากฟางข้าวกึ่งอัตโนมัติ

โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดเป็นผลงานของนักศึกษาโดยมีอาจารย์ชัยภูมิ สีมาและ ผศ.สุรเชษฐ์ หวานเสียง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งนักศึกษาได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชนผนวกเข้ากับการนำองค์ความรู้นั้นไปพัฒนาต่อยอดและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและยังเป็นการเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น โดยผลงานทั้ง 4 ชิ้นจะถูกนำไปส่งมอบให้กับชุมชนเพื่อได้นำไปใช้ในกลุ่มวิสากิจต่อไป

              นายเสริมพงษ์  พงษ์พิกุล  เกษตรอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า ทางสำนักงานเกษตรอำเภอดอยสะเก็ดต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัย คณาจารย์ และน้องๆนักศึกษาทุกคนที่ช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอำเภอดอยสะเก็ด โดยการออกแบบเครื่องจักรสำหรับใช้งานในกลุ่มสาหกิจชุมชนทั้ง 4 กลุ่มนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้กลุ่มวิสากิจชุมชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นกลุ่มผู้สูงมากขึ้น การสร้างเครื่องทุ่นแรงนั้นจะเป็นการช่วยลดเวลาในการผลิตและสามารถเพิ่มการแปรรูปผลิตภัณฑ์มากยิ่งขั้น อุปกรณ์ที่นักศึกษาได้ช่วยดำเนินการออกแบบมานั้น ได้ศึกษาและประดิษฐ์เครื่องมือที่ใกล้เคียงกับวิถีภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่นเครื่องโม่ข้าว กลุ่มผู้สูงอายุคุ้นเคยกับเครื่องโม่แบบใช้มือ  ทางนักศึกษาก็พยายามดึงเอาความเป็นภูมิปัญญาผนวกเข้ากับนวัตกรรม จนกลายมาเป็นเครื่องโม่ข้าวแบบอัตโนมัติ  เป็นต้น อุปกรณ์เหล่าจึงเป็นเครื่องทุ่นแรงให้กับทางกลุ่มวิสาหกิจเป็นอย่างมากอีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้วิสาหกิจของชุมชนเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาด ซึ่งในวันนี้มีตัวแทนของกลุ่มวิสาหกิจทั้ง 4 กลุ่มมารับมอบด้วยและมีโอกาสได้นำเครื่องไปทดลองใช้จริงแล้ว ก็พบว่า ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจสามารถช่วยลดเวลา ลดต้นทุนในการจ้างแรงงานได้จริง

             อาจารย์ชัยภูมิ สีมา อาจารย์ที่ปรึกษากล่าวว่า “ปัญหาของวิสาหกิจชุมชน คือ ต้นทุนในการผลิตที่เป็นค่าจ้างแรงงาน เนื่องจากทางกลุ่มนั้น ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน การที่นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าไปในชุมชนและสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่แล้วจึงพัฒนา สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง และนักศึกษาทุกคนก็มีความตั้งใจที่อยากช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากขึ้น ลดต้นทุนในการผลิต สร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้มากขึ้น จากนี้นักศึกษาทุกกลุ่มก็จะเข้าไปติดตั้งเครื่องจักรและสอนวิธีการใช้งานซึ่งในการออกแบบผลงานนั้นทุกชิ้นก็ต้องขอขอบคุณกลุ่มวิสาหกิจทุกกลุ่มที่สนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อใช้ในการสร้างผลงานด้วย การส่งมอบผลงานในวันนี้ก็ถือว่าเป็นผลลัพธ์ของความมุ่งมั่นตั้งใจและแสดงถึงการเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติที่เป็นที่พึงของสังคม ชุมชนอย่างแท้จริง ”

 

 

 

 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon