เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 22 มิถุนายน 2560 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 2817 คน
18 มิถุนายน 2560 คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ลงพื้นที่โครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของกาแฟของเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือตอนบน กรณีศึกษาบ้านป่าเหมี้ยง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เพื่อเก็บข้อมูลวิจัยช่วงที่ 1 โดยมีผู้เข้าร่วม 57 คน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกวรรณ เวชกามา หัวหน้าโครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของกาแฟของเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือตอนบน กรณีศึกษาบ้านป่าเหมี้ยง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้มุ่งเน้นในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าให้แก่อุตสาหกรรมกาแฟของประเทศไทย โดยเริ่มดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายต้นแบบคือบ้านป่าเหมี้ยง ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ปัญหาที่บ้านป่าเหมี้ยงกำลังเผชิญคือการไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เพราะยังขาดแคลนเครื่องมือในกระบวนการแปรรูปกาแฟ รวมถึงการยังไม่สามารถบริหารจัดการกลุ่มที่มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟบ้านป่าเหมี้ยงได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ของการปลูกกาแฟบนพื้นที่ 1-A ของตำบลแจ้ซ้อน ด้วยเหตุนี้ชุมชนและหน่วยงานราชการในท้องถิ่นจึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่มเกษตรเพื่อพัฒนาวิสาหกิจในการผลิตกาแฟเพื่อสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งในชุมขน และให้พื้นที่ปลูกกาแฟอยู่ได้กับพื้นที่ป่าได้อย่างลงตัว รวมถึงการให้ความรู้ในการปราบศัตรูพืชโดยสารชีวพันธุ์ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โครงการนี้จึงมุ่งเน้นในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าให้กับผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข็มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานในช่วงแรกของการวิจัยโดยจะเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านสถิติที่เกี่ยวกับการผลิต การบริโภค การตลาดในบ้านป่าเหมี้ยง เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต่อไปตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ โดยทุกขั้นตอนและกระบวนการในการศึกษาจะนำไปสู่การจัดการความรู้ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างองค์ความรู้เฉพาะพื้นที่ สืบทอดและขยายผลการประกอบอาชีพปลูกกาแฟ รวมทั้งสร้างความยั่งยืนในการปลูกกาแฟ ส่งผลต่อรายได้และเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความแข้มแข็งต่อไป หัวหน้าโครงการกล่าวในตอนท้าย
ข่าว /ภาพ : จารุวรรณ สุยะ
ที่มาของข่าว : ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกวรรณ เวชกามา / ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มทร.ล้านนา ลำปาง
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา